วิธีปลูกพริกแบบมืออาชีพ


การปลูกพริกในปัจจุบันสามารถทำได้ด้วยกัน 2 วิธี ซึ่งเกษตรกรจะเลือกใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ ดังนี้


1. การเพาะเมล็ดพันธุ์ ในแปลง โดยการนำเมล็ดพันธุ์หว่านให้กระจายทั่วทั้งแปลงเพาะ หรือโรยเมล็ดเป็นแถวลงไปในร่องลึก 0.6 –1 เซนติเมตร ห่างกันแถวละประมาณ 10 เซนติเมตร กลบด้วยปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วหรือดินผสมละเอียด รดน้ำให้ชุ่มเสมอ คลุมด้วยฟางแห้งหรือหญ้าแห้งบางๆ เมื่อกล้าเริ่มงอกมีใบจริงอายุประมาณ 12–15 วัน ถอนแยกต้นที่เป็นโรคไม่สมบูรณ์หรือต้นที่ขึ้นเบียดกันแน่นเกินไปทิ้งให้มีระยะห่างกันพอสมควรและควรให้ปุ๋ยเสริมทางใบเพื่อให้ต้นกล้าเจริญเติบโตและแข็งแรงเมื่อต้นกล้าอายุ30 – 40 วัน จึง ย้ายลงปลูกในแปลงใหญ่ได้


2. การเพาะเมล็ดพันธุ์ในกะบะเพาะที่มีวัสดุเพาะเมล็ด เป็นส่วนผสมสำเร็จรูปที่อุ้มน้ำได้พอเหมาะ โดยแต่ละถาดมี 104 หลุม วัสดุเพาะ1ถุงสามารถใส่ถาดเพาะได้ 14-16 ถาด ซึ่งเป็นเทคนิคการเพาะที่ทำให้ต้นกล้าแข็งแรงสมบูรณ์ก่อนย้ายปลูก โดยจะต้องเพาะเมล็ดให้งอกก่อนในวัสดุเพาะอย่างอื่น เช่น ทรายผสมแกลบดำและขุยมะพร้าว ซึ่งเมล็ดจะงอกใช้เวลาประมาณ 10-12 วัน หลังจากนั้นจึงย้ายไปปลูกในวัสดุเพาะสำเร็จรูปที่อยู่ในถาดเพาะโดยจะใช้เวลาอีก 14-18  วันจึงจะสามารถนำต้นกล้าย้ายปลูกในแปลงได้


นำเมล็ดไปแช่น้ำ เมล็ดที่ลอยน้ำแสดงว่าลีบให้เก็บทิ้ง    หลังจากนั้นนำไปแช่ในสารละลายสปอร์เชื้อไตรโคเดอร์มาสด (เชื้อสด 4 ถุง + น้ำ 100 ลิตร)

ต้นกล้าได้ 1 อาทิตย์


ย้ายลงถาดหลุม

ต้นกล้าได้ 25-30 วัน


การเตรียมพื้นที่ปลูกพริก

สำหรับเกษตรกรที่เริ่มต้นปลูกพริกในที่ดินใหม่ จะต้องเก็บตัวอย่างดินไปตรวจวิเคราะห์ อย่างน้อยที่สุดควรตรวจค่าความเป็น กรด-ด่าง ของดิน ดินที่เหมาะต่อการปลูกพริก ควรมีค่า pH = 6.0-6.8

ถ้าสภาพดินเป็นกรด จะต้องมีการปรับสภาพของดินโดยใช้โดโลไมท์ หรือปูนขาว ในการใส่ปูนขาวหรือโดโลไมท์ในแต่ละครั้ง ไม่ควรเกิน 300 กิโลกรัม ต่อไร่ ในการเตรียมพื้นที่ก่อนที่จะไถดิน ให้ใส่ปุ๋ยคอก อย่างน้อย ไร่ละ 1,000 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน เมื่อไถดินเสร็จ ให้ตากดินทิ้งไว้นาน 3-7 วัน หลังจากตากดินเสร็จ ก็จะเป็นขั้นตอนของการยกแปลงปลูก โดยแปลงปลูกควรจะสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ความยาวของแปลงขึ้นกับสภาพพื้นที่ แต่ความยาวของแปลงไม่ควรเกิน 50 เมตร ในการขึ้นแปลงจะใช้รถไถติดผาล 7 ขึ้นแปลงไป-กลับ 4 รอบ เมื่อขึ้นรอบที่ 5 ให้ใช้เกรดรถไถปรับหลังแปลงให้เรียบเป็นแปลงพริก (ไม่ต้องเสียเวลาใช้แรงงานคน) จากนั้นอาจจะปูพลาสติกและวางสายน้ำหยด หรือจัดระบบการให้น้ำตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่


การย้ายต้นกล้าลงปลูกในแปลงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

หลังจากที่เตรียมขุดหลุมตามระยะปลูกเรียบร้อยแล้ว มีเทคนิคที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่เกษตรกรมักจะมองข้ามคือ การย้ายต้นกล้าลงปลูกในแปลง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนมาก ขณะที่จับต้นกล้าพริกออกจากถาดหลุม จะต้องจับบริเวณเหนือใบเลี้ยง (ใบคู่แรก) เพื่อป้องกันการบอบช้ำของเนื้อเยื่อบริเวณโคนต้นกล้า ซึ่งบริเวณนี้จะเป็นส่วนที่เชื้อราเข้าทำลายได้ง่าย เป็นสาเหตุหลักของโรคเน่าคอดินตามมา

หลังจากย้ายกล้าลงหลุมเสร็จภายในวันเดียวกัน หรืออย่างช้าวันรุ่งขึ้นจะต้องฉีดพ่นสารป้องกันและกำจัดเชื้อราในกลุ่มสารเมทาแลคซิล หรือใช้ยาอาลีเอทก็ได้ หลังจากที่ย้ายต้นกล้าพริกลงหลุมปลูกแล้ว การใช้ไม้หลักปักค้ำต้นพริกมีความจำเป็นและสำคัญเช่นกัน ถ้าหากปักหลักต้นพริกช้าเกินไป รอจนรากของต้นพริกเดินกระจายทั่วแล้ว จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคเหี่ยวที่เกิดจากแบคทีเรีย เพราะหลักที่นำไปปักทีหลังหรือปักช้าเกินไปนั้น ไปโดนกับส่วนของรากเสียหายและเกิดบาดแผล เชื้อเข้าทำลายระบบท่อน้ำและท่ออาหารได้

ดังนั้น เกษตรกรที่จะปลูกพริกในเชิงพาณิชย์ จะต้องมีการเตรียมไม้หลักไว้ล่วงหน้า โดยคำนวณจากต้นพริกที่ปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกแบบแถวคู่ จะมีจำนวนต้น ประมาณ 3,200 ต้น ก็เตรียมไม้หลักจำนวนเท่ากัน ปกติขนาดของไม้หลัก ควรจะมีความสูง 60-80 เซนติเมตร ใช้ไม้ไผ่ก็ได้

หลังจากปลูกพริกไปได้ 50-70 วัน จะต้องมีการปักไม้หาบต้นพริก เพื่อช่วยพยุงต้นพริกไม่ให้หักโค่น หรือกิ่งฉีกหักจากการรับน้ำหนักของผลผลิตที่มีความดก แนะนำให้ใช้ไม้ไผ่ที่มีความยาว 1.20 เมตร ปักคู่กันระหว่างต้นพริกด้านซ้ายและด้านขวา จากนั้นใช้ไม้อีกอันหนึ่งวางขวางด้านบนสุด มัดด้วยลวดหรือเชือกฟางให้แน่น โดยจะทิ้งช่วงของการปักไม้เป็นระยะ ทุกๆ 3 เมตร จากนั้นก็มัดเชือกฟางทั้งข้างซ้ายและข้างขวาให้ยาวตลอดแนวแถวแปลงพริก ดึงเชือกให้ตึงในแต่ละช่วง จะช่วยให้ต้นพริกไม่โค่นล้มได้ง่าย


สูตรปราบโรคเชื้อราในพริกและบำรุงต้นให้แข็งแรง-ออกลูกดก

วิธีการทำ
หลังจากที่เกษตรกรคัดต้นกล้าพริกที่สมบูรณ์ลงในแปลงปลูกได้ประมาณ 7 วัน ให้ทำการดูแลรดน้ำปุ๋ยดังต่อไปนี้

1. ฮอร์โมนไข่สำหรับพืช 1 ช้อนแกง
2. สูตรปรามโรค 1 ช้อนแกง
3. น้ำส้มควันไม้ 1 ช้อนแกง
4. น้ำเปล่า 20 ลิตร

วิธีการทำ : นำทุกอย่างมาผสมให้เข้ากันแล้วใช้รดต้นพริกที่ปลูกไว้ให้ชุ่มเป็นประจำจนพริกติดลูกเก็บผลผลิตประมาณ 4-5 วันครั้ง ซึ่งสูตรนี้เราจะได้ทั้งปุ๋ยน้ำ ฮอร์โมน สารไล่แมลงครบถ้วน และรักษาอาการรากเน่าโคนเน่าได้ดีด้วย อีกทั้งสามารถเพิ่มผลผลิตพริกให้ดกไม่เป็นโรคอีกต่อไป

สูตรฮอร์โมนไข่ 

1.ไข่ไก่ 5 กิโลกรัม
2.กากน้ำตาล 5 กิโลกรัม
3.ยาคูลท์ 1 ขวด
4.แป้งข้าวหมาก 1 ลูก
5.ถังหมัก 1 ใบพร้อมฝาปิด

วิธีการทำ : นำไข่ไก่ กากน้ำตาล ยาคูลท์ แป้งข้าวหมาก ใส่ลงในถังหมัก ตีไข่ให้แตก ยีแป้งข้าวหมากให้ละเอียด ใช้ไม้พายคนให้เข้ากัน ปิดฝาหมักทิ้งไว้และหมั่นคนทุกเช้าและเย็น 7 วันใช้ได้

สูตรปรามโรค

1.จุลินทรีย์หน่อกล้วย (หัวเชื้อ) ครึ่งลิตร
2.เหล้าขาว ครึ่งลิตร
3.น้ำส้มสายชู กลั่น 5 % ครึ่งลิตร
4.กากน้ำตาล (หรือน้ำตาลปืบ)ครึ่งลิตร

วิธีการทำ : นำทุกอย่างมาผสมเข้าด้วยกัน หมักไว้ 24 ชั่วโมง จึงนำไปใช้ได้
วิธีแก้พริกใบดกแต่ไม่มีลูก ภาษาชาวบ้านเรียก พริก เฝือใบ ให้ทำเด็ดใบพริกออกประมาณ 50% ของต้น แล้วให้น้ำตามทันที ในช่วงนี้ให้งดการให้ปุ๋ยหรือฮอร์โมน 15 วัน


วิธีแก้พริกใบหงิกงอ

เกิดจากเพลี้ยไฟและไรขาว
วิธีกำจัดเพลี้ยไฟและไรขาวพริก
-ไรขาวอาการใบพริกจะหงิกม้วนลงทำให้ต้นพริกแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโตชะงักการออกดอก
-เพลี้ยไฟอาการใบพริกจะหงิกม้วนขึ้นพริกกำลังออกดอกจะทำให้ดอกร่วง กำลังติดผลจะทำให้ฝักบิดงอ
ไรขาวหรือเพลี้ยไฟพริก ตัวเล็กมากครับ มองด้วยตาเปล่ายากสักหน่อย ลองเอายอดมาเคาะกับกระดาษสีขาวๆจะเห็นชัดเจนขึ้น


วิธีแก้
น้ำยาล้างจานยี่ห้ออะไรก็ได้ 3 ฝา ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นไปที่ต้นพริกให้ทำการเด็ดยอดใบพริกที่เกิดอาการทิ้งและตามด้วยฉีดน้ำหมักชีวภาพเพื่อบำรุงต้น
หรือจะใช้
ใช้กระเทียมหัวสดแก่ๆ 1 กก. โขลกละเอียดแช่ในน้ำร้อนจัด 1 ลิตร นาน 24 ชม. ได้หัวเชื้อ อัตราใช้ หัวเชื้อทั้งหมดผสมน้ำ 60 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่มทุก 3-5 วันศัตรูพืช ด้วงหมัดผัก ด้วงปีกแข็ง ด้วงงวงกัดใบ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ไส้เดือนฝอย แมลงหวี่ขาว เชื้อรา(โรคกลิ่นสับปะรด โรคต้นเน่าผลเน่า โรคผักเน่า โรครากำมะหยี่หรือใบไหม้ โรคราน้ำค้าง โรครากเน่าโคนเน่า โรคเหี่ยว โรคใบจุด โรคใบเน่า) ไวรัสวงแหวนในมะละกอ แบคทีเรียต่างๆ ก็ได้


โรคพริกกุ้งแห้ง
อาการของโรค   ที่ผลพริก แรกๆจะเป็นจุดฉ่ำน้ำ แผลจะยุบตัวลงและกระจายใหญ่ขึ้น  จะเห็นวงของเชื้อราซ้อนกันหลายวงเป็นกลุ่มๆสีดำล้อมรอบบริเวณแผล แผลส่วนนี้หากมีความชื้นสูงจะเห็นเป็นน้ำเยิ้มๆ ส่วนน้ำเยิ้มนี้จะทีสปอร์ของเชื้อราซึ่งจะทำให้โรคระบาดไปเร็วขึ้น

สูตรสมุนไพรป้องกันรักษาโรครา โรคแอนแทรคโนส (โรคกุ้งแห้ง) โรคตากบ  วัตถุดิบหาง่าย วิธีการทำนั้นก็ไม่ยุ่งยาก

วัตถุดิบ
1. สามารถใช้สมุนไพรที่มีในท้องถิ่นชนิดใดก็ได้ ที่มีรสฝาด
เช่น หมาก เปลือกมังคุด ขมิ้น อัตราส่วนอย่างละเท่ากัน รวม 50 กิโลกรัม
2. กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม
3. หัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 ลิตร
4. ถังขนาด 150 ลิตร 1 ถัง
5. น้ำเปล่า 10 ลิตร

วิธีทำ
ทุบหมากพอแตก สับเปลือกมังคุดและขมิ้น ใส่ลงในถังที่เตรียมไว้ ผสมกากน้ำตาล +หัวเชื้อจุลินทรีย์ + น้ำเปล่า คนให้เข้ากัน เทใส่ลงในถังปิดฝาเก็บไว้ในที่ร่ม 15 วัน

วิธีใช้
- ฉีดพ่นอัตราส่วน น้ำยา 1 ลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร
- ฉีดพ่นในเวลาเย็น ทุกๆ 7 วัน

การเก็บรักษา
ควรปิดฝาให้เรียบร้อยเก็บไว้ในที่ร่มพริกเม็ดสวยปราศจากโรคและแมลงศัตรู

ประโยชน์
ใช้ป้องกันและรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น ราน้ำค้าง ราสนิม ราดำ โรคแอนแทรคโนส (โรคกุ้งแห้ง) และโรคตากบ เป็นต้น

หมายเหตุ
การป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา ทำได้โดยการฉีดพ่นน้ำหมักทุกครั้งจากฝนหยุดตก เพราะเชื้อรามักมากับน้ำฝนที่เกาะอยู่บนใบพืช
ทำเกษตรอินทรีย์ในวันนี้ ชีวิตปลอดภัยจากสารเคมี

 อ้างอิงข้อมูลจาก rakbankerd.com, farmlandthai.com